ไขข้อข้องใจ 9 สาเหตุทำไมหมาคันหู ต้องพาไปหาหมอรึเปล่า

นายทาสหลาย ๆ ท่านคงเคยสังเกตเห็นสุนัขของตนเกาหู อาจจะเกาเล็กน้อยแล้วไปทำกิจกรรมอื่นต่อไป

หรือเกาหู สะบัดหู อยู่อย่างนั้นทั้งวันจนไม่เป็นอันทำอะไร บางครั้งเกาไปด้วยร้องครางด้วยความเจ็บปวดไปด้วยก็มี วันนี้เราจะมาตอบข้อสงสัยว่าทำไมหมาคันหู มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วนายทาสอย่างเราต้องจัดการอย่างไรเมื่อหมาคันหู พร้อมเคล็ดไม่ลับในการทำความสะอาดช่องหูสุนัข พร้อมแล้วไปดูกันได้เลย

หมาคันหูมีอาการอย่างไร

อาการที่แสดงให้เราเห็นว่าสุนัขคันหูนั้น จะเริ่มตั้งแต่การยกเท้าขึ้นมาเกาใบหู สะบัดหัว เอาส่วนหัวของตัวเองไปถูกับสิ่งของรอบด้าน จับบริเวณกกหูสุนัขแล้วร้อง หากสุนัขมีอาการคันหูมากขึ้นอาจจะสังเกตเห็นว่าสุนัขมีอาการหัวเอียง เดินไม่ตรง หรือบางรายก็สามารถมีอาการชักตามมาได้เลย

อาการหมาคันหู

โดยทั่วไปหากไม่ได้มีอาการคันมากเราอาจจะสังเกตเห็นสุนัขเกานาน ๆ ครั้งโดยไม่ได้รบกวนกิจวัตรประจำวันมากนัก แต่หากสุนัขไม่เป็นอันทำอะไรเลย เกาหู หรือสุนัขสะบัดหัวตลอดเวลาก็แปลว่าสุนัขคันมาก แบบนี้ไม่ควรปล่อยไว้ ต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขให้ทันท่วงทีกันนะ ไม่อย่างนั้นหากปล่อยให้สุนัขเกาซ้ำ ๆ อย่างหนักหน่วง อาจทำให้เกิดบาดแผลหนักขึ้น มีการติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มเติม สุนัขเจ็บตัวมากขึ้น รักษายากขึ้น นานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมาได้

หมาของคุณคันหูขนาดไหน? – ค่าคะแนนการคันจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อทาสทั้งหลายต้องพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพราะสัตวแพทย์มีเวลาเพียงช่วงสั้น ๆ ในการตรวจร่ายกายสุนัข บางครั้งสุนัขมาหาหมอก็ไม่แสดงอาการคันให้เห็นเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นค่าคะแนนการคันจะช่วยบอกความรุนแรงของโรคให้สัตวแพทย์ทราบได้เบื้องต้น และใช้ประกอบในการพิจารณาจ่ายยาให้สุนัขได้

บทความเกี่ยวกับสุขภาพสุนัข

สาเหตุที่ทำให้หมาคันหูมีอะไรบ้าง

1.สายพันธุ์

อาการคันหูมักเกิดตามมาจากการอักเสบของหู สุนัขบางสายพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหูอักเสบได้ง่าย (predisposing breed) เช่น สุนัขสายพันธุ์ บีเกิ้ล (Beagle), โกลเด้น ริทรีฟเวอร์ (Golden retriever), ลาบราดอร์ ริทริฟเวอร์ (Labrador retriever), เวสท์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย (West highland white terrier), คาวาเลียร์ คิง ชาลร์ สแปเนียล (Cavalier king charles spaniel) และ ค็อคเกอร์ สแปเนียล (Cocker spaniel) เป็นต้น ข้อสังเกตคือสุนัขที่มีใบหูใหญ่และตกลงมาปิดช่องหู มักก่อให้เกิดความอับชื้นได้ง่ายกว่าสุนัขพันธุ์หูตั้ง

2.โรคภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม (Atopic dermatitis)

โรคภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม เป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งมักได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันชนิด IgE ต่อสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม (environment allergen) เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร เป็นต้น มักพบที่อายุ 6 เดือนถึง 3 ปี สุนัขจะมีอาการคัน และมีการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณปาก รอบตา ใบหู หน้าท้อง ข้อพับของข้อศอก ข้อเท้า ผิวหนังระหว่างนิ้ว และรอบก้น ร่วมกับอาการแดงและตุ่มหนองขนาดเล็ก ซึ่งอาการมักจะขึ้นกับปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่สุนัขแพ้

3.โรคภูมิแพ้อาหาร (Food allergy)

โรคภูมิแพ้อาหารเป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้สุนัขมีอาการคันมาก เกิดจากการที่สุนัขกินโปรตีนที่มีอยู่ในอาหารสัตว์ทั่วไป แล้วโปรตีนเหล่านั้นอาจเข้าไปจับกับตัวรับของระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในทางเดินอาหารสุนัข ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบที่ทางเดินอาหารหรืออวัยวะอื่น ๆ ตามมา

โดยในสุนัขและแมวพบว่าระบบผิวหนังมักจะเป็นระบบที่ตอบสนองต่อการแพ้มากที่สุด ซึ่งอาการมักจะคล้ายคลึงกันกับสุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม คือมีอาการคัน และมีการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณปาก รอบตา ใบหู หน้าท้อง ข้อพับของข้อศอก ข้อเท้า ผิวหนังระหว่างนิ้ว และรอบก้น โรคภูมิแพ้อาหารมักมีระยะเวลาในการสะสมสารก่อภูมิแพ้นาน โดยพบว่าสุนัขจะต้องกินอาหารนั้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลาเป็นปี ๆ จึงจะพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นจึงมักจะพบว่าสุนัขมักจะมีปัญหาเมื่ออายุมากกว่า 5 – 6 ปีแล้ว แต่ก็สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน

4.โรคไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism)

โรคไทรอยด์ต่ำเป็นโรคที่เกิดจากความล้มเหลวของต่อมไทรอยด์ (thyroid glands) ในการผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นในการกระตุ้นให้เกิดการเจริญของขน สุนัขที่ขาดฮอร์โมนไทรอยด์มักแสดงอาการเซื่องซึม มีขนร่วงแบบเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ผิวหนังหนาตัวมีสีเข้มขึ้น ผิวหนังแห้ง แตก ขนไม่เงางาม ส่วนหูจะพบว่ามีการหนาขึ้นของผนังในรูหู มีขี้หูมาก ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และเรื้อนเปียกร่วมด้วยได้

5.เนื้องอกในช่องหู (Ear mass)

เนื้องอกในรูหูสุนัขเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย โดยสัดส่วนในการเป็นเนื้องอกธรรมดาเทียบกับเนื้องอกที่เป็นมะเร็งนั้นจะเท่า ๆ กัน ชนิดของเนื้องอกที่เจอได้บ่อยมักมาจากเนื้องอกของต่อมสร้างขี้หู (Ceruminous glands) โดยอาการก็มักจะแตกต่างกันตามชนิดของเนื้องอกที่เป็น

อาการที่พบได้มีตั้งแต่พบก้อนนูนในรูหู บริเวณขอบรูหู มีการหนาตัวขึ้นอย่างมากของผิวหนังในรูหู ก้อนมีแผลหลุม หรือผิวหนังมีการเปลี่ยนสีเข้มขึ้น มีเลือดหรือหนองออกมาจากในรูหู

6.ปรสิตไรในหู (Ear mites) และไรขี้เรื้อน (Sarcoptic mange)

ไรในหู หรือ Otodectes cynotis เป็นไรชนิดที่มีขนาดใหญ่ ขนาดตัว 0.3 – 0.4 mm. อาศัยอยู่ในรูหูสุนัขและแมว อาจพบในส่วนอื่นของร่างกายได้บ้างโดยเฉพาะโคนหาง มีชีวิตอยู่ได้โดยการเก็บกินเศษผิวหนังที่ตายและของเหลวจากเนื้อเยื่อ มีชีวิตอยู่นอกตัวสัตว์ได้นานหลายสัปดาห์ และมีรายงานในการติดต่อสู่คนด้วย อาการของสุนัขที่เป็นไรในหูมักจะมีเศษขี้หูสีน้ำตาลหรือดำจับตัวกันเป็นก้อน ๆ มีอาการแดง คันในรูหู ในสุนัขบางตัวมีปฏิกิริยาการแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบตามมา ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณไรในหูที่เจอ โดยเราสามารถมองเห็นไรหูสุนัขได้ด้วยตาเปล่าซึ่งจะเห็นเป็นจุดสีขาวที่เคลื่อนที่ได้

ไรอีกชนิดที่พบได้บ่อยในสุนัขคือ ไรขี้เรื้อน (Sarcoptic mange) เกิดจากการติดเชื้อ Sarcoptes scabiei สุนัขติดเชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนัง สะเก็ด และขน ของสุนัขที่เป็นโรค ตัวไรชนิดนี้เมื่อติดมาแล้วจะสร้างรูอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของสุนัข ทำให้มีอาการคัน มีตุ่มแดงร่วมกับมีสะเก็ดสีเหลืองอมน้ำตาล ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณขอบและส่วยปลายของใบหู ข้อศอก ข้อเท้าหลัง ใต้อก และใต้ท้อง หากเป็นมากสามารถพบกระจายอยู่ทั่วตัวได้

7.การติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องหู (Bacterial otitis)

เชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยสามารถพบได้ทั้งแบคทีเรียแกรมบวกรูปร่างกลม ในกลุ่ม Staphylococcus spp. และแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างแท่ง เช่น Pseudomonas aeruginosa ซึ่งกรณีที่เกิดการติดเชื้อ Pseudomanas spp. มักก่อให้เกิดการอักเสบของช่องหูที่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดภาวะการอักเสบของหูชั้นกลางตามมาได้

สุนัขที่ติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องหูมักแสดงอาการคัน สะบัดหู จับบริเวณกกหูแล้วเจ็บ ช่องหูมีการบวมแดง พบสิ่งคัดหลั่งมีกลิ่นเหม็น ลักษณะเขียวข้นหรือเหลืองขุ่น ในสุนัขบางตัวสามารถพบรอยถลอก หรือแผลหลุมได้

8.การติดเชื้อยีสต์ (Malassezia dermatitis)

เชื้อยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในกลุ่ม Eukaryote ชอบไขมันและจำเป็นต้องใช้ไขมันในการดำรงชีวิต พบอยู่บนผิวหนังและเยื่อเมือกของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสปีชีส์ที่พบได้บ่อยบนผิวหนังสุนัขและแมวคือ Malassezia pachydermatis โดยปริมาณที่พบบนผิวหนังจะแตกต่างกันตามลักษณะโครงสร้างและสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยง

เมื่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มที่ผิวหนังของสัตว์บกพร่อง เสียสมดุล เชื้อยีสต์จะเพิ่มปริมาณขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นจนก่อโรค โดยมักจะทำให้เกิดการอักเสบในหูชั้นนอกของสุนัข นอกจากนั้นยังทำให้ เกิดโรคผิวหนังอักเสบบริเวณต่าง ๆ ซึ่งบริเวณที่พบได้บ่อย คือ ใต้ราวคอ หน้าท้อง ขาหนีบ ใบหน้า ซอกนิ้ว และบริเวณรอยพับของผิวหนัง สุนัขจะมีอาการคัน ขนร่วง ผิวหนังเป็นปื้นแดง มีสีเข้มขึ้น มีสะเก็ดคล้ายไลเคน (lichenification) มีไขมันเยิ้ม และมีกลิ่นเหม็นหืน

9.สิ่งแปลกปลอมในรูหู

การพบสิ่งแปลกปลอมในรูหู จะพบในสุนัขที่เลี้ยงอยู่นอกบ้านบ่อยกว่าสุนัขที่อยู่แต่ภายในบ้าน โดยสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นอาจจะเป็นได้ทั้ง เศษหญ้า ดิน ทราย เส้นขนที่หลุดหรือขาด หรือแม้กระทั่งแมลง โดยอาการมักจะแสดงให้เห็นแบบเฉียบพลัน นอกจากอาการคันแล้ว สุนัขอาจมีอาการเจ็บเมื่อจับหู หูอักเสบ โดยอาการมักเป็นที่หูข้างเดียว และมักจะไม่พบว่ามีอาการของโรคช่องหูมาก่อน หากพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่เจ้าของไม่สามารถหยิบออกให้ได้หรือสงสัยว่ามีอะไรเข้าหูสุนัข ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพราะบางครั้งสิ่งแปลกปลอมอาจจะหลุดเข้าไปในรูหูส่วนใน และเข้าไปทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อแก้วหูตามมาได้

รักษาอาการหมาคันหูอย่างไรได้บ้าง

เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สุนัขคันหูมีมากมาย ดังนั้นเบื้องต้นเมื่อเห็นว่าสุนัขคันหู เจ้าของควรสังเกตใบหูและรูหูสุนัขดูก่อนว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง หากยังไม่พบสิ่งผิดปกติอะไรหรืออาจจะมีขี้หู ขนหู บ้างตามปกติของสุนัขตัวเองที่เคยพบ อาจจะลองล้างหูดูก่อนได้ แต่หากพบความผิดปกติเช่นมีอาการแดง ผิวหนังหนาตัว มีหนองหรือเลือดไหลออกมาจากรูหู พบสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กในรูหู พบก้อน มีขี้หูเยอะผิดปกติ หรือขี้หูดำมาก สุนัขเจ็บหูมากเมื่อจับหู ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยก่อนจะดีที่สุด

อย่างไรก็ตามไม่ควรรักษาสุนัขเอง เพราะโรคบางอย่างหากรักษาไม่ตรงจุดหรือปล่อยไว้นานเกินไป อาจจะทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้น สิ้นเปลืองค่ารักษามากขึ้น หนำซ้ำอาจจะทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สุนัขต้องทนทรมานกับโรคไปตลอดชีวิตได้ และหากอยากป้องกันไม่ให้สุนัขเกาหูมากจนเป็นบาดแผลหนัก แนะนำให้ใส่คอลล่าร์กันเกาก็สามารถช่วยบรรเทาความบอบช้ำจากการเกาได้